ในห้วงยามที่โลกเต็มไปด้วยการเคลื่อนไหว ตั้งคำถามหรือปลดแอกตัวเองจากระบบเก่าๆ ทั้งจากในฮ่องกง เรื่อยมาจนถึงในไทย ‘Do You Hear the People Sing?’ น่าจะนับเป็นหนึ่งในบทเพลงที่ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก ค่าที่เนื้อเพลงบอกเล่าถึงความกราดเกรี้ยวของประชาชนต่อความกดขี่จากระบบ และโดยตัวมันเองนั้น บทเพลงก็งอกเงยขึ้นมาจากละครเวทีที่ว่าด้วยการต่อสู้ถึงสิทธิเสรีภาพอันพึงมีของมนุษย์อย่าง Les Misérables ที่ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ชื่อเดียวกันสัญชาติฝรั่งเศสของ วิกเตอร์ อูโก (Victor Hugo)
Les Misérables หรือในชื่อภาษาไทย เหยื่ออธรรม ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1862 และต่อมาได้รับการพิจารณาว่าเป็นวรรณกรรมที่ดีที่สุดของศตวรรษที่ 19 เล่าถึงเหตุการณ์ในปี 1815 คาบสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติปี 1789 เมื่อ นโปเลียน โบนาปาร์ต หมดอำนาจ พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 ขึ้นครองราชย์ เริ่มต้นความพยายามฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ จนถึงปี 1830 เกิดการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (July Revolution) กษัตริย์หลุยส์-ฟิลิปป์ ขึ้นครองราชย์แทนพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 แม้การลุกฮือในเดือนมิถุนายน 1832 (June Rebellion) จะกลายเป็นการกบฏที่ไม่สามารถล้มอำนาจ หลุยส์-ฟิลิปป์ ได้ แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปก็ทำให้พระองค์เป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสพระองค์สุดท้ายในปี 1848

ตัวละครหลักของเรื่องคือ ฌ็อง วัลฌอง (Jean Valjean) อดีตนักโทษข้อหาขโมยขนมปังเพียงหนึ่งก้อนและต้องชดใช้โทษในคุกเป็นเวลานับสิบปี เมื่อพ้นโทษแล้วเขาพยายามเริ่มชีวิตใหม่ภายใต้การดูแลและให้ความช่วยเหลือของบิช็อปผู้เมตตา แต่ยังไม่วายถูกตามล่าจากนายตำรวจ ฌาแวร์ (Javert) ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนระอุและความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ค่อยๆ กลืนกินพวกเขาอย่างช้าๆ
หลังจากได้รับการตีพิมพ์ เหยื่ออธรรม ได้รับความนิยมอย่างมากจนถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครเวทีครั้กแรกเมื่อ 1980 โดยเปิดการแสดงรอบแรกกลางกรุงปารีส และมันได้กลายเป็นละครเวทียอดนิยมที่เปิดแสดงแทบจะทุกประเทศในยุโรปทันที เนื่องจากเนื้อหาที่บอกเล่าถึงความกราดเกรี้ยวของผู้คน คู่ขนานไปกับโลกที่กำลังค่อยๆ เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในหลายๆ ประเทศ มันจึงเป็นละครเวทียอดฮิตที่มาพร้อมบทเพลงฮิตหลายๆ เพลงไม่ว่าจะเป็น ‘I Dreamed a Dream’ ซึ่งขับร้องโดย ฟองตีน (Fantine) กรรมกรหญิงผู้อาภัพ, ‘Who Am I?’ โดย ฌ็อง วัลฌอง รวมถึง ‘Do You Hear the People Sing?’ ซึ่งขับร้องสองรอบตลอดการแสดง คือเมื่อองก์ที่หนึ่งจบลงและเมื่อละครเวทีทั้งเรื่องปิดฉาก

Les Misérables ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ปี 2012 กำกับโดย ทอม ฮูเปอร์ (Tom Hooper) คนทำหนังชาวอังกฤษ ‘Do You Hear the People Sing?’ ขับร้องโดยเหล่าขบวนปฏิวัติซึ่งนำโดย อองโชลรา (Enjolras) ผู้นำจากกลุ่มสหายแห่งอาเบเช นักศึกษาที่ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์, มาริอุส (Marius) ขุนนางหนุ่มที่เข้าร่วมกองทัพปฏิวัติ ด้วยเจตนารมณ์ต่อต้านระบอบการปกครองเก่า และเหล่านักศึกษาประชาชนที่เข้าร่วมการการลุกฮือในการก่อกบฏเดือนมิถุนายน 1832
อย่างไรก็ดี ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ของฮูเปอร์นั้นพูดภาษาอังกฤษตลอดทั้งเรื่อง บทเพลงทั้งหมดจึงถูกแปลงจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษ ฮูเปอร์หยิบเนื้อเพลงมาจาก เฮอร์เบิร์ต เครชเมอร์ (Herbert Kretzmer) นักเขียนชาวอังกฤษ ที่เคยแปลงเนื้อเพลงไว้ตั้งแต่มีการนำละครเวทีเรื่องนี้มาเข้ามาแสดงในฝั่งยุโรปและลอนดอนใหม่ๆ จากนั้น ‘Do You Hear the People Sing’ ก็ถูกนำมาใช้ในสื่อกระแสหลักอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะกิจกรรมการชุมนุมทางการเมือง เพราะนี่คือเพลงปลุกใจของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงในปี 2019

เครชเมอร์ที่เป็นผู้เขียนเนื้อเพลงภาษาอังกฤษเล่าถึงเหตุการณ์นี้อย่างตื้นตันว่า
“ในวัย 93 ปี ผมคงได้แต่ส่งแรงใจไปให้พวกเขาผ่านเนื้อเพลงที่พวกเขาขับร้อง และผมก็จะร่วมขับร้องไปพร้อมกับพวกเขาด้วยเช่นกัน”
หรือแม้แต่ก่อนหน้านั้น มันก็เป็นเพลงที่ปรากฏคู่กับการชุมนุมมาแล้วบ่อยครั้ง ทั้งในการประท้วงที่วิสคอนซินปี 2011 เมื่อชาวเมืองลุกขึ้นประท้วงแผนการลดอำนาจสหภาพแรงงาน หรือเมื่อชาวเกาหลีใต้รวมตัวกันประท้วงการใช้อำนาจโดยมิชอบของ พัก กึน-ฮเย อดีตประธานาธิบดีคนที่ 11 ที่สุดท้ายต้องรับโทษจำคุก 24 ปี
มาร์วา บาร์เน็ตต์ (Marva Barnett) ศาสตราจารย์จากมหาวิทนาลัยเวอร์จิเนีย (University of Virginia) ผู้ศึกษางานเขียนของอูโกมาอย่างยาวนาน บอกว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เพลงนี้มีความเป็นอมตะ ข้ามกาลเวลามาหลายทศวรรษ ด้านหนึ่งก็มาจากตัวของอูโกผู้ริเริ่มงานเขียน Les Misérables เรื่องราวของเขาเชื่อมโยงกันจิตวิญญาณโหยหาเสรีภาพของหลายๆ คน ช่วงระยะแรกๆ ของชีวิต อูโกเคารพในสถาบันกษัตริย์อย่างมาก แต่เมื่อพบว่า หลังม่านความสง่างามนั้นเต็มไปด้วยการฉ้อฉลและกดขี่ประชาชน เขาจึงเปลี่ยนฝั่งมาสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว
“อีกอย่างคือ ปรัชญาที่ตัวอูโกเองนับถือก็มีผลด้วย” บาร์เน็ตต์อธิบาย “อูโกเชื่อว่าความเป็นมนุษย์ ความรัก และความแข็งแกร่งของทุกคน เพื่อประชาชนคนอื่นๆ นั้นสามารถก้าวข้ามกำแพงทุกสิ่งได้ และหากเราพิจารณาอย่างใกล้ชิด อูโกเขียนวรรณกรรมเรื่องนี้เพื่อส่องประกายให้คนทุกชนชั้นอย่างแท้จริง
“สิ่งที่ทำให้ ‘Do You Hear the People Sing?’ เป็นเพลงที่หลายคนยังขับร้องกันทุกวันนี้ในการประท้วงเพราะมันผสมห้วงอารมณ์ความฮึกเหิมที่ปลุกเลือดของเราให้เดือดพล่าน มันคือเพลงที่คนจากชนชั้นล่างสุดของสังคมมีตัวตนปรากฏให้เราได้เห็น และในเวลาเดียวกัน เนื้อเพลงและดนตรีก็ยังมอบความหวังให้มนุษย์แม้ในห้วงยามที่เรากำลังทุกข์ตรมสุดขีด”
สำหรับเวอร์ชั่นภาษาไทยนั้นไม่มีปรากฏว่าใครเป็นผู้แปลงบทเพลงมาเป็นชื่อ ‘บทเพลงแห่งมวลชน’ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มันเป็นบทเพลงจากการประท้วงในไทย ก่อนหน้านี้ภายหลังการล้อมปราบกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พ.ศ. 2553 บทเพลงนี้เคยถูกหยิบยกมาเพื่อบอกเล่าความสูญเสียและความเจ็บช้ำที่เกิดขึ้นภายหลังจากโศกนาฏกรรมในครั้งนั้น
เช่นเดียวกับใน พ.ศ. 2557 เมื่อกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ใช้บทเพลงนี้ต่อต้านการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง ตลอดจนโมงยามล่าสุดที่ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลใช้เพื่อขับร้องปลุกใจและแสดงออกถึงความรู้สึกที่โดนกดขี่มาอย่างยาวนาน
กับการชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่กี่วันที่ผ่านมา เพลงนี้ก็ยังถูกนำไปขับร้องในกลุ่มผู้ชุมนุมเช่นกัน
“อูโกนั้นสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อระบอบประชาธิปไตย เพื่อเอกราชในแต่ละดินแดน และเพื่อต่อต้านระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในแต่ละประเทศ ตลอดจนอีกหลายๆ ประเทศอย่างคิวบา, เม็กซิโก, โปแลนด์, เกาะครีต, เฮติ และที่อื่นๆ ในโลกน่ะ” บาร์เน็ตต์กล่าว
อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://melmagazine.com/en-us/story/do-you-hear-the-people-sing-is-the-hottest-protest-son